Skip to main content

 

 “ทุกๆ วันข้าพเจ้าต้องการไตร่ตรองกับตนเอง ทั้งยังต้องการเริ่มต้นใหม่กับตนเองอยู่เสมอ”                                      อันโตนิโอ กรัมชี่ : ข้าพเจ้าเกลียดวันขึ้นปีใหม่ 

การสอนที่มีรอยยิ้มและความเจ็บปวด

เราไปโรงเรียนด้วยคำว่า “ครู” นักเรียนเรียกเราว่า “ครู” คำเป็นครูเริ่มเข้ามาจับแน่นกับตัวเรา เราแบกความหวังและความท้าทายในใจ มันเป็นเชื้อไฟให้การฝึกสอนของเรามีความหมาย
 
และแล้ว…
 
ครั้งหนึ่งเราเคยยิ้มและเจ็บปวดกับการสอน รอยยิ้มเกิดขึ้นในวันแรกและสลับหายไปบางคราว เรายิ้มให้กับห้องเรียนที่มีพลัง ห้องเรียนที่นักเรียนกล้าหาญในการท้าท้ายหรือกระหายที่จะอยากรู้ เราสามารถสร้างการสอนที่ให้นักเรียนสนุก เราสามารถใช้วิธีการสอนที่ท้าทายให้นักเรียนก้าวพ้นการเรียนรู้แบบเดิม เรายิ้มเมื่อนักเรียนเริ่มตั้งคำถาม
 
แต่กระนั้นความเป็นเจ็บปวดของการสอนเกิดขึ้นไม่ทันตั้งตัวมันสลับกับรอยยิ้ม ความหวังที่วางไว้ถูกท้ายทายอย่างน่ากลัว ความล้มเหลวในบางคาบเป็นสิ่งที่เป็นฝันร้าย ไม่อยากพบเจอ ครั้งหนึ่งในยามบ่าย นักเรียนไร้อารมณ์ถึงแม้เราจะกระตุ้นเต็มที่ ครั้งหนึ่งนักเรียนของเราไม่สามารถเข้าใจคำถามหรือแม้กระทั้งตอบคำถามได้เลย ครั้งหนึ่งกลายเป็นเราเสียเองที่ใช้อารมณ์ในการสอนและทำลายการสอนการไปในที่สุด เราผิดหวัง พลังของเราเริ่มริบหรี่ การสอนยังจะมีความหมายกับเราอยู่อีกหรือ
 

…เพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น มันเป็นสิ่งที่เราถามถึงทุกขณะการสอน ....

ตัวตน ความกลัว ความรู้ การอ่านและเขียนในการสอน

การที่ยิ้มและเจ็บปวดในการสอน มันคือภาวะทางความรู้สึกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การสอนย่อมเกี่ยวกับพันกับความรู้สึก การสอนไม่สามารถถูกลดทอนให้เหลือเพียงมิติเทคนิควิธีการได้อย่างเดียว ที่กระทำราวกับว่าการสอนเป็นเครื่องจักรหนึ่ง การกลับมาทบทวนรอยยิ้มและความเจ็บปวดในการสอนครั้งนี้ จึงพบคำตอบที่ว่าการสอนมีมิติที่ซับซ้อน การสอนไม่สามารถอธิบายด้วยเพียงมิติเดียว
 
มิติตัวตน สิ่งที่เผชิญระหว่างการสอน เป็นช่วงของการประทะกันของตัวตนของเราและตัวตนของคนอื่น มันคือการตัดสินใจระหว่างการเป็นแบบเราหรือเป็นอย่างที่คนอื่นเป็น หลายครั้งตัวตนของคนอื่นถูกนำมายึดถือเป็นตัวตนการสอนของเรา การสอนกลายเป็นการหยิบยืมตัวตนของคนอื่นมากกว่าการแสดงตัวตนของตัวเอง การเผชิญภาวะดังกล่าวคือหนามทิ่มแทงที่สร้างความเจ็บปวดให้การสอนของเรา ในทางกลับกันการกลับไปสำรวจตัวเองว่า “เราเป็นใครในการสอน” จะเป็นสิ่งที่ทำให้เราเข้าใจตัวตนของเรามากขึ้น และขณะเดียวกันมันจะค่อยแสดงความเป็นตัวเองออกมา เราไม่สารถนำตัวตนของครูคนอื่นมาสวมทับเราได้ อาทิ หากเราเป็นครูที่ไม่ได้มีนิสัยที่เล่นมุขตลก และทุกครั้งที่สอนเราพยามแสดงมุขตลกออกมา สิ่งนี้จะกลายเป็นการฝืนตัวตนเป็นอย่างมาก นักเรียนจะไม่เห็นว่าครูได้แสดงออกมาอย่างจริงใจ ตัวครูเองจะเป็นผู้ทรมานกับการสวมตัวตนของผู้อื่น การสอนต้องเป็นการแสดงตัวตนของครูออกมาอย่างซื่อตรง สุดท้ายการกระทำและความคิดที่เรากระทำออกมาทุกครั้งในการสอน ต้องเป็นสิ่งที่เราต้องสะท้อนและตั้งคำถามกลับทุกครั้งเสมอ
 
มิติความกลัว ความกลัวเป็นอำนาจที่ทำให้เราปิดกั้นการทดลองเพื่อแสวงหาแนวทางใหม่ ความกลัวจึงเป็นสิ่งที่ควบคู่ไปกับความล้มเหลว ความกลัวในการสอนเหล่านี้ล้วนเกิดจาก การถูกคาดหวังจากในโรงเรียน ข้อสอบจากส่วนกลางที่บีบรัด นโยบายของสั่งการที่ให้เนื้อหาเป็นสำคัญ การถูกนิเทศการสอน หรือแม้กระทั้งความคาดหวังที่มากไปของตนเอง ความกลัวเหล่านี้จึงเป็นการ “ปิดกั้นการสอน” การสอนกลายเป็นสิ่งที่ถูกกำหนดให้สอน เราไม่สามารถที่จะสร้างการสอนของตนเองได้ แต่การสอนของเราถูกกำหนดให้อยู่ในกรอบ เมื่อนั้นมายาคติของการจะแหวกออกจากม่านของการสอนที่เป็นกรอบเดิมจึงมาพร้อมกับความเสี่ยง เสี่ยงที่ต้องเผชิญต่อความล้มเหลว หรือกล่าวได้ว่ามันคือการเสี่ยงที่จะไม่ถูกนับว่าเป็นการสอน การสลัดหนีออกจากความกลัวจึงต้องหันไปทำความเข้าใจความกลัวที่เกิดขึ้น เราควรตั้งคำถามว่าเรากลัวอะไรในการสอน เพราะอะไรจึงต้องกลัว แล้วเราจะขจัดความกลัวในการสอนออกไปได้อย่างไร ครูไม่ควรให้ความกลัวมาเป็นอุปสรรคในการสอนของตน การสอนจึงต้องเป็นงานที่เสี่ยง เสี่ยงที่จะสร้างสรรค์การสอนของตน
 
มิติความรู้ ความเป็นกลางของความรู้เป็นสิ่งที่การสอนยึดเอาไว้ การสอนกลายเป็นความพยามหนีห่างจากความรู้ไม่ใช่การขยับเข้าใกล้ความรู้ ทั้งนี้เพราะมองว่าความรู้เป็นวัตถุวิสัย(วัตถุต้องสงสัย)ที่ไม่ควรแปะเปื้อนด้วยสิ่งอันใดทั้งสิ้น ความรู้เป็นสิ่งที่ผู้เชียวชาญเข้าถึงความจริงแล้วลำเลียงส่งต่อให้ครูเป็นผู้เล่าต่อ เมื่อเป็นเช่นนั้นวิธีการที่ดีที่สุดคือของการสอนคือต้องทำหน้าที่ถ่ายโอนความรู้ไปสู่นักเรียนให้มากที่สุดอย่างไม่แปะเปื้อน การมองความรู้เช่นนี้จึงทำให้การสอนปิดกั้นความรู้แบบอัตวิสัยที่เชื่อว่าความจริงไม่ได้มีเพียงหนึ่งเดียว และไม่ได้มีความเป็นกลางและไม่บริสุทธิ์ แต่ละคนสามารถค้นหาความจริงและอธิบายความจริงอีกแบบได้เช่นกัน การถ่ายโอนความรู้ระหว่างครูกับนักเรียนไม่ใช่สิ่งหลัก เมื่อความรู้ถูกมองเสียใหม่ สิ่งที่ตามมาคือการเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ร่วมตั้งคำถามต่อความรู้และค้นหาความจริงมากขึ้น
 
มิติการอ่านและเขียน ความหมายการอ่านของไม่ได้ถูกกำหนดอยู่เพียงหนังสือตำรา แต่ยังหมายถึงการอ่านบริบทที่ตนอยู่ การอ่านคือการทำความเข้าใจโลกทั้งผ่านการอ่านหนังสือและการสังเกตกับสิ่งที่เกิดขึ้น การอ่านเป็นการกระทำให้เราไม่ได้ใช้ชีวิตแบบปล่อยผ่าน แต่คือการทำให้เราเกิดสำนึกอะไรบางอย่างขึ้นมา การอ่านเป็นสิ่งครูไม่ควรละทิ้ง ครูจะไม่มีวันเข้าใจนักเรียนหากครูไม่อ่าน การสร้างให้นักเรียนเป็นผู้อ่านเป็นสิ่งที่ไม่ควรละเลยเช่นกัน เพราะนั่นคือการช่วยให้นักเรียนสำรวจตนเองในฐานะส่วนหนึ่งของบริบทที่ตนอยู่ การอ่านจะเป็นบันไดที่เปิดโลกทรรศน์ใหม่หรือแตกหักกับการรับรู้เดิม แต่อย่างไรการอ่านต้องทำควบคู่กับการเขียน เมื่อการอ่านเป็นการทำความเข้าใจโลก การเขียนย่อมเป็นการสะท้อนสิ่งที่ได้อ่านได้ชัดเจนที่สุด การสะท้อนผ่านการเขียนถึงท้ายที่สุดมันคือการเขียนโลกขึ้นมาใหม่ในแบบที่เราจะให้มันเป็น การเขียนของครูเป็นการกระทำหนึ่งที่ช่วยให้การสะท้อนการอ่านของครูผ่านบริบทโรงเรียนและนักเรียนชัดขึ้น มันจะเป็นพลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงต่อสิ่งที่ครูเผชิญอยู่

การสอนยังต้องดำเนินต่อไป

 
ถึงจะมีรอยยิ้มและความเจ็บปวดในการสอน แต่การสอนยังต้องดำเนินต่อไป ประวัติศาสตร์ไม่เคยหยุดนิ่ง การสอนก็เช่นกัน การสอนต้องเป็นสิ่งที่ไตร่ตรองสะท้อนกับตนเองในฐานะครูตลอดเวลา การไตร่ตรองเพื่อสะท้อนการสอน จำเป็นต้องหันกลับไปค้นหาตัวตนของตนเองในการสอน สำรวจความกลัวที่ปิดกั้นการสอน การเปิดทางให้กับการมองความรู้แบบอัตวิสัย และการนำการอ่านเขียนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานด้านการสอน การสอนไม่ได้มีความสมบูรณ์แบบในตัวมันเอง และการสอนก็ไม่ได้มีความล้มเหลวอย่างสาหัส ถึงท้ายสุดแล้วรอยยิ้มและความเจ็บปวดยังคงเป็นคู่ขัดแย้งในการสอน และขณะเดียวกันมันจะขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในการสอนให้ไปสู่การสอนที่ดีกว่า

“การเปลี่ยนแปลงไม่สามารถเกิดได้ทันที แต่เราเชื่อว่ามันจะเปลี่ยนแปลงได้”

 
 
*หมายเหตุ : การเขียนครั้งนี้ได้รับความเจ็บปวดและรอยยิ้มในระหว่างการฝึกสอนที่โรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ และได้รับเชื้อไฟทางความคิดจากหนังสือกล้าที่จะสอน หนังสือครูในฐานะผู้ทำงานวัฒนธรรม และงานเสวนา 40 ปี 6 ตุลา :ทบทวนหาจิตวิญญาณครูเพื่อมวลชน ทั้งหมดเป็นแรงผลักดันให้เกิดการเขียนเพื่อทบทวนตนเองครั้งนี้
 
 

..แด่เธอนักเรียนผู้เป็นครูที่ดีที่สุด...