Skip to main content

เปิดรายงานการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรี พบ หญิงจบประถมหรือหญิงรวยสมรส/อยู่กินกับชายมากกว่า 1 คนในอัตราที่สูงกว่าหญิงกลุ่มอื่นๆ ขณะที่ ฝ่ายชายอายุ 40-44 ปีมีสัดส่วนมากกว่าชายกลุ่มอื่นๆพร้อมชี้สมรสในวัยเด็กเป็นการละเมิดสิทธิฯ ทำลายพัฒนาการ

จากกรณีเมื่อวันที่ 27 มี.ค. ที่ผ่านมา สำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช.) ร่วมมือกับองค์การยูนิเซฟ (UNICEF) ประเทศไทย ได้เผยแพร่รายงานการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรี (MICS) ใน พ.ศ. 2558-2559 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรม MICS ทั่วโลก ทั้งนี้มีองค์การยูนิเซฟเป็นผู้สนับสนุนหลักทั้งเทคนิคทางวิชาการและงบประมาณ

ซึ่งรายงานการสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีในประเทศไทย พ.ศ.2558-2559ดังกล่าว มีประเด็นที่น่าสนใจ จึงหยิบยกบางส่วนมานำเสนอ โดยเฉพาะประเด็นการสมรสหรืออยู่กินมากกว่า 1 คน โดยผู้หญิงที่อายุ 15-49 ปี ที่สมรสหรืออยู่กินกับผู้ชายมากกว่า 1 คน พบว่า ร้อยละ 3.4 ที่สมรสอยู่กินกับผู้ชายมากกว่า 1 คน โดยโดยสัดส่วนพบสูงสุดในกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 4.5  ผู้หญิงอายุ 45-49 ปีที่สมรสหรืออยู่กินกับผู้ชายมากกว่า 1 คนมีสัดส่วนสูงสุดร้อยละ  3.9 ซึ่งสัดส่วนนี้ลดลงเหลือเพียงร้อยละ 1.9 สำหรับผู้หญิงอายุ 15-19 ปี นอกจากนี้ผู้หญิงที่มีการศึกษาระดับประถมศึกษาและผู้หญิงที่มีฐานะร่ำรวยมีสัดส่วนของการสมรสหรืออยู่กินกับผู้ชายมากกว่า 1 คน ในอัตราที่มากกว่าผู้หญิงในกลุ่มอื่นๆ

ขณะที่ ผู้ชายที่มีการสมรสมากกว่า 1 คน โดยภาพรวมผู้ชายอายุ 15-49 ปี ร้อยละ 2.9 มีคู่สมรสมากกว่า 1 คน โดยพบสูงสุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือร้อยละ 4.0 และต่ำสุดในภาคเหนือ คือ ร้อยละ 1.6 นอกจากนี้พบว่าการมีคู่สมรสมากกว่า 1 คน พบในกลุ่มผู้ชายที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษา คือ ร้อยละ 3.3 กลุ่มที่มีฐานะยากจนมาก คือ ร้อยละ 3.5 และผู้ชายในกลุ่มอายุ 40-44 ปี เป็น ร้อยละ 3.9 ซึ่งมีสัดส่วนมากกว่าผู้ชายในกลุ่มอื่นๆ

หญิง 15-19 ปี14.1% สมรสหรือกินอยู่กับผู้ชาย

นอกจากนี้ยังมีประเด็นการสมรสตั้งแต่อายุน้อย โดย พบว่า ผู้หญิงอายุ 15-19 ปีที่ขณะนี้สมรสหรือกินอยู่กับผู้ชายร้อยละ 14.1 โดยพบสัดส่วนสูงสุดในภาคเหนือ คือ ร้อยละ 17.7 และพบว่าสัดส่วนไม่แตกต่างกันมากระหว่างผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาลและนอกเขตเทศบาล คือ ร้อยละ 13.4 และ 14.7 ตามลำดับ แต่มีประเด็นน่าสนใจเมื่อพิจารณาตามระดับการศึกษาของผู้หญิง โดยพบว่า ผู้หญิงที่มีการศึกษาในระดับประถมศึกษาเกือบครึ่งหนึ่ง ร้อยละ 46.6 ที่ขณะนี้มีการสมรสหรืออยู่กินกับผู้ชาย ในขณะที่สัดส่วนนี้ผู้หญิงไม่มีการศึกษาเท่ากับร้อยละ 15.7 ส่วนผู้หญิงที่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษาและสูงกว่ามัธยมศึกษามีสัดส่วนต่ำกว่า ร้อยละ 13.5 และ 1.4 ตามลำดับ

สำหรับสถานะทาง เศรษฐกิจของครัวเรือนพบว่ามีความสัมพันธ์ในทางตรงข้ามนั้นคือ เกือบ 1 ใน 4 ของผู้หญิงอายุ 15-19 ปีที่มีฐานะยากมากสมรสหรืออยู่กินกับผู้ชายเปรียบเทียบกับร้อยละ 2.5 สำหรับผู้หญิงที่มีฐานะร่ำรวยมาก

สำหรับผู้ชายอายุ 15-19 ปี ที่ขณะนี้สมรสหรืออยู่กินกับผู้หญิงคิดเป็นร้อยละ 6.8 โดยสัดส่วนไม่แตกต่างกันระหว่างในเขตเทศบาลกับนอกเทศบาล คิดเป็นร้อยละ 6.8 และ 6.7ตามลำดับ แต่มีความแตกต่างระหว่างภาค ดังนี้ สัดส่วนของผู้ชายอายุ 15-19 ปีที่ขณะนี้สมรสพบสูงสุดในภาคใต้ คิดเป็นร้อยละ 8.2 และต่ำสุดในภาคเหนือ คิดเป็นร้อยละ 5.6โดยเมื่อพิจารณาระดับการศึกษาพบว่า ผู้ชายที่อายุ 15-19 ปีที่มีการศึกษาระดับประถมศึกษาปัจจุบันสมรสในสัดส่วนสูงสุด คือ ร้อยละ 13.7 และมีสัดส่วนต่ำสุดในผู้ชายที่ไม่ได้รับการศึกษา คือ ร้อยละ 1.1 อย่างไรก็ตาม จำนวนผู้ชายอายุ 15-19 ปีที่ไม่มีการศึกษามีเพียง 43 ราย

สัดส่วนของผู้หญิงและผู้ชายที่สมรสก่อนอายุ 15 ปี และ 18 ปี จำแนกตามพื้นที่และกลุ่มอายุ การพิจารณาร้อยละของผู้ที่สมรสก่อนอายุ 15 และ 18 ปีตามกลุ่มอายุจำทำให้เห็นแนวโน้มของการแต่งงานตั้งแต่อายุน้อยๆ ในช่วงเวลาที่ผ่านมา  ข้อมูลแสดงให้เห็นว่าความชุกของสัดส่วนของผู้หญิงที่แต่งงานหรือมีคู่สมรสก่อนอายุ 15 ปีและ 18 ปี นั้นไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปมากนักในช่วงเวลาที่ผ่านไป โดยพบว่าร้อยละ 4.0 ของผู้หญิงอายุ 45-49 ปี แต่งงานก่อนอายุ 15 ปี ร้อยละ 4.8 สำหรับผู้หญิงอายุ 40-44 ปี และร้อยละ 4.0 สำหรับผู้หญิงอายุ 25-29 ปี อย่างไรก็ตามพบว่าผู้หญิงอายุ 15-19 ปี ซึ่งแสดงแนวโน้มล่าสุดมีร้อยละ 4.4 ที่แต่งงานก่อนอายุ 15 ปี และพบลักษณะเช่นเดียวกันสำหรับการแต่งงานก่อนอายุ 18 ปี

สำหรับร้อยละของการสมรสก่อนอายุ 15 ปี ของเพศชายมีลักษณะที่แตกต่างกันออกไป โดยพบว่าผู้ชายอายุ 15-19 ปี ที่สมรสก่อนอายุ 15-19 ปี ที่สมรสก่อนอายุ 15 ปี มีสัดส่วนต่ำสุด คือ ร้อยละ 0.8เมื่อเทียบกับผู้ชายกลุ่มอายุอื่น โดยร้อยละ 2.4 ของผู้ชายอายุ 35-39 ปี สมรสก่อนอายุ 15 ปี ลักษณะนี้แสดงให้เห็นว่าการสมรสก่อนอายุ 15 ปีของผู้ชายมีแนวโน้มลดลง อย่างไรก็ตามพบว่า ผู้ชายอายุ 20-24 ปีที่สมรสก่อนอายุ 18 ปีมีสัดส่วนสูงสุด คือ ร้อยละ 10.1 เมื่อเทียบกับผู้ชายในกลุ่มอายุอื่นๆ

องค์ประกอบอื่นที่เกี่ยงข้องกับการสมรส คือ ความแตกต่างของอายุของคู่สมรส ซึ่งนำเสนอในลักษณะตัวชี้วัด คือ ร้อยละของผู้หญิงที่สมรสหรืออยู่กินกับผู้ชายที่แก่กว่า 10 ปีขึ้นไป ผลสำรวจแสดงให้เห็นความแตกต่างของอายุสามีภรรยาของคู่สมรสในประเทศไทยดังนี้ 1 ใน 7 หรือ ร้อยละ 15.1 ของผู้หญิงอายุ 20-24 ปี มีสามีอายุแก่กว่า 10 ปีขึ้นไป ขณะที่ 1 ใน 13 หรือ ร้อยละ 7.5ของผู้หญิงอายุ 15-19 ปี มีสมามีอายุแก่กว่า 10 ปี โดยพบว่าผู้หญิงในภาคเหนือ คิดเป็น ร้อยละ 17.7 ผู้หญิงที่มีการศึกษาระดับประถมศึกษา คิดเป็น ร้อยละ 23.7 ผู้หญิงในครัวเรือนที่มีฐานะยากจนมาก คิดเป็น ร้อยละ 20.4 และผู้หญิงที่หัวหน้าครัวเรือนพูดภาษาไทย ร้อยละ 16 มีสัดส่วนที่สามีมีอายุแก่กว่า 10 ปี ขึ้นไปกว่ากลุ่มอื่น

1 ใน 2 หรือประมาณ ร้อยละ 46.9 ของผู้หญิงสมรสอายุ 20-24 ปี มีสามีที่แก่กว่า 0-4 ปี โดยมีสัดส่วนสูงสุด สำหรับผู้หญิงที่ไม่มีการศึกษา คิดเป็น ร้อยละ 71.3 ผู้หญิงที่หัวหน้าครัวเรือนไม่พูดภาษาไทย คือ ร้อยละ 60.8 นอกจากนี้พบว่ามากกว่า 1 ใน 4 (ร้อยละ 26.8) ของผู้หญิงกลุ่มอายุนี้ที่มีฐานร่ำรวยสมรสกับสามีที่อายุแก่กว่า 5-9 ปี ซึ่งเป็นสัดส่วนที่สุงกว่าผู้หญิงในฐานะอื่นๆ ถึง   1 ใน 3 และพบว่าผู้หญิงที่มีสามีอายุอ่อนกว่า มีร้อยละ 18.6 โดยมีสัดส่วนสูงสุดในผู้หญิงที่มีการศึกษาสูงกว่ามัธยมศึกษาและมีฐานะยากจน ร้อยละ 19.8 และ 22.4 ตามลำดับ

ชี้สมรสในวัยเด็กเป็นการละเมิดสิทธิฯ ทำลายพัฒนาการของเด็ก

รายงานฉบับนี้ระบุด้วยว่า การสมรส ก่อนอายุ 18 ปี เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง หญิงสาววัยรุ่นหลายคน มีหลายแห่งของโลกที่พ่อแม่ส่งเสริมให้ลูกสาวแต่งงานตั้งแต่เด็ก ด้วยความหวังที่ว่าจะได้ประโยชน์ทั้งด้านการเงินและสังคม ทั้งยังช่วยแบ่งเบาภาระทางการเงินของครอบครัว ซึ่งความเป็นจริงการสมรสในวัยเด็กเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนและทำลายพัฒนาการของเด็ก และบ่อยครั้งที่ทำให้เด็กหญิงตั้งครรภ์และถูกแยกออกจากสังคมตั้งแต่วัยเยาว์ ทั้งที่มีการศึกษาเพียงเล็กน้อยและทักษะในการประกอบอาชีพ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้จะส่งเสริมให้เกิดความยากจนสำหรับเพศหญิงมากยิ่งขึ้น

สิ่งที่มีความเกี่ยวข้องกับการสมรสในวัยเด็ก เด็กหญิงเริ่มมีเพศสัมพันธ์ สมรสก่อนอายุ 18 ปี มีแนวโน้มที่จะมีบุตรจำนวนมากกว่าผู้หญิงที่สมรสช้ากว่า ทราบกันดีว่าการตายของเด็กหญิงอายุ 15-19 ปี มีสาเหตุหลักเนื่องจากการตั้งครรภ์ จะแต่งงานหรือว่าไม่แต่งงานก็ตามโดยเฉพาะเด็กวัย 15 ปี มีหลักฐานที่ว่าเด็กหญิงที่แต่งงานเมื่ออายุยังน้อยมีโอกาสสูงที่จะแต่งงานกับชายที่อายุมากกว่า ซึ่งจะนำไปสู่ความเสี่ยงในการติดเชื้อเอชไอวีเพิ่มขึ้น  ดังนั้นความไม่สมดุลของอำนาจในการตัดสินใจ เนื่องมาจากอายุที่แตกต่างกันส่งผลให้การใช้ถุงยางอนามัยต่ำกว่ามากสำหรับคู่สมรสในลักษณะนี้

สำหรับโปรแกรมการสำรวนนี้ ได้พัฒนาโดยองค์การยูนิเซฟ ในปี ค.ศ. 1990 ซึ่งเป็นโครงการสำรวจครัวเรือนในระดับนานาชาติ โดยจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ของเด็กและผู้หญิงในระดับประเทศ เพื่อการจัดทำตัวชี้วัดที่เป็นสากลและสามารถเปรียบเทียบระหว่างประเทศได้ การสำรวจสถานการณ์เด็กและสตรีช่วยให้ประเทศมีข้อมูลสำหรับใช้ประกอบในการกำหนดนโยบายและโครงการต่างๆ รวมใช้ในการติดตามความก้าวหน้าของการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (MDGs) รวมทั้งข้อตกลงระหว่างประเทศอื่นๆ