Skip to main content

เมื่อวันที่ 30 กันยายน 2558 โครงการปริญญาโทสาขาสตรี เพศสถานะ และเพศวิถีศึกษา วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จัดกิจกรรมเสวนาวิชาการในหัวข้อ“รักต้องห้าม : Queer Desires & Queer Erotic” นำเสวนาโดย รศ. ธเนศ วงศ์ยานนาวา และ ผศ.ดร. เสาวณิต จุลวงศ์ โดยมี ดร.สุกฤตยา จักรปิง เป็นผู้ดำเนินรายการ

ธเนศ กล่าวถึงการนิยาม Queer Erotic ว่า เราไม่ควรไปนิยามสิ่งต่างๆ แต่ในทางวิชาการเราจำเป็นต้องกำหนดกรอบแนวคิด สถาบันการศึกษาจำเป็นต้องนิยามสิ่งต่างๆ Queer ในความคิดของตนจึงหมายถึง พฤติกรรมทางเพศที่มีความหลากหลายเป็นอย่างยิ่ง ฉะนั้นในสถาบันการศึกษาที่มีชุดความคิดบางอย่างจำกัดอยู่ อะไรก็ตามที่ไม่สามารถจัดลงกล่องได้จึงถูกโยนเข้าเป็นคำว่า Queer ปัญหาใหญ่ที่นำเรามาสู่การเสวนาในวันนี้คือ หลังจากการยอมรับการแต่งงานของเกย์แล้ว เราจะยอมรับการแต่งงานแบบหลายผัวหลายเมีย (Polygamy) ด้วยไหม จะยอมรับการแต่งงานในครอบครัวไหม จะยอมรับการร่วมเพศกับสัตว์ได้ไหม ในประเด็นของการแต่งงานแบบหลายผัวหลายเมียนั้นรัฐบาลอเมริกาไม่เห็นชอบกับการแต่งงานดังกล่าวและยังเกิดข้อโต้แย้งระหว่างแนวคิดเสรีนิยมกับสตรีนิยม เพราะสตรีนิยมมองว่าการแต่งงามแบบหลายเมียเป็นการกดทับสิทธิของผู้หญิง ในขณะที่การแต่งงานแบบนี้ผูกโยงอยู่กับศาสนาอิสลามและมันคือป้อมปราการสำคัญที่จะนำไปสู่สิทธิมนุษยชน เพราะเมื่อบอกว่ายอมรับความหลากหลายทางวัฒนธรรมก็ต้องยอมรับการแต่งงานแบบหลายผัวหลายเมีย

ด้านเสาวณิต กล่าวว่า วรรณคดีมีนัยยะถึงเรื่องแต่งในอดีตที่ผ่านช่วงเวลายาวนานในขณะที่นิยายอยู่คนละช่วงเวลา สองสิ่งจึงแตกต่างกันในช่วงเวลาและวัฒนธรรมในช่วงนั้นๆ ในวรรณคดีครอบครัวในยุคนั้นเป็นครอบครัวหลายผัวหลายเมียที่มีลักษณะหลายเมียซึ่งเกิดในชนชั้นสูง วัฒนธรรมในยุคนั้นจึงยอมรับการมีหลายผัวหลายเมีย เพราะการมีเมียมากแสดงให้เห็นถึงความมั่งคั่งมั่งมีสามารถเลี้ยงเมียได้หลายคน (ชาวบ้านและชนชั้นล่างจึงเป็นครอบครัวผัวเดียวเมียเดียว) ตัวละครหญิงในวรรณคดีที่มีหลายผัวมีทั้งที่ถูกตำหนิและไม่ถูกตำหนิ ตัวละครที่ถูกตำหนิก็เช่น นางวันทอง นางกากี ในขณะที่ตัวละครอย่างนางมณโฑ (ในเรื่องรามเกียรติ์) มีสามี 4-5 คนเหมือนจะไม่ถูกตำหนิ เพราะนางมณโฑถูกส่งต่อไปให้ผู้ชายหลายคน จึงไม่สามารถปฏิเสธได้ และนางมณโฑยังมีชาติกำเนิดเป็นกบ โดยสถานะนางจึงไม่ใช่มนุษย์ ตัวบทจึงอนุญาตให้นางมีสามีได้หลายคน (ถ้าเป็นมนุษย์ก็จะโดนตำหนิ)

ธเนศ กล่าวถึงการต้องห้ามในเชิงเพศวิถีในวรรณคดีว่าเกิดจากระบบการนับญาติ เพราะการนับญาติฝ่ายชายส่งผลให้ผู้ชายเป็นผู้กุมอำนาจทางการเงินและให้ค่ากับพรหมจรรย์ ตรงกันข้ามถ้านับญาติจากฝ่ายหญิง นางมณโฑจะมีหลายผัวเป็นเรื่องธรรมดามาก  การเข้าใจโครงสร้างระบบเครือญาติแบบนี้จะทำให้เราเข้าใจการสถาปนาโครงสร้างรัฐชาติที่ยึดถือการปกครองแบบผู้ชายเป็นที่ตั้ง

สุกฤตยา ตั้งคำถามถึงตัวบทอัศจรรย์ (บทร่วมรัก) ในวรรณคดีว่า ร่วมอภิรมย์หรือข่มขืน ซึ่งเสาวณิตได้อธิบายว่า ตัวบทบอกถึงความสมยอมแต่ถ้าจะให้อ่านว่าข่มขืนต้องอ่านอีกแบบ คือถอดเสียงเล่าของผู้แต่งและดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้น สิ่งสำคัญของตัวบทคือเสียงของผู้เล่าว่าเล่าอย่างไร การที่กวีเป็นผู้เล่ามันส่งผลต่ออารมณ์ความรู้สึกของตัวละคร กวีนำเสนอความภูมิใจของผู้ชายและเล่าว่าผู้หญิงสมยอม จินตนาการของผู้ชายคือผู้หญิงยินดีในสิ่งที่ตนเองมอบให้และนึกไม่ออกว่าสิ่งที่ตัวเองมอบให้ผู้หญิงไม่ต้องการ (ซึ่งเป็นสิ่งที่แฝงมากับตัวบทหรือเสียงเล่าของผู้ชาย) คนอ่านมองข้ามการข่มขืนเพราะบทอัศจรรย์อันไพเราะ เช่น ขุนแผนเป่ามนต์แล้วร่วมรักกับผู้หญิงซึ่งความจริงไม่ต่างจากการวางยาแล้วข่มขืน สะท้อนให้เห็นการเมืองเรื่องประพันธ์ที่อยู่ในวรรณคดีไทย

ผู้อ่านจะเป็นคนตัดสินวรรณคดีว่าควรอ่านหรือไม่อ่าน เพราะวรรณคดีไม่ได้มีหน้าที่สอนแต่มันถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึก จินตนาการของมนุษย์ ส่วนเรื่องที่ว่าอ่านแล้วได้อะไรนั้นมันมีการเมืองซ่อนอยู่ว่าค่านิยมจะพาวรรณคดีไปทิศทางไหน ขณะที่ในความเป็นจริงแล้วนักเขียนชายมักไม่ค่อยแต่งเรื่องที่พระเอกข่มขืนนางเอก (ในวรรณคดีฉากข่มขืนที่ชัดเจนคือตัวร้ายข่มขืนผู้หญิง) แต่มีสมมติฐานว่านักเขียนหญิงมักจะเขียนให้พระเอกข่มขืนนางเอกแปลว่า รักต้องห้ามแบบนี้ผู้หญิงอาจจะยอมรับได้ จึงเกิดคำถามว่า ผู้หญิงเสพความรุนแรง หรือ มองความรุนแรงเป็นความโรแมนติก