Skip to main content

เมื่อวันที่ 28 มิ.ย.ที่ผ่านมา เวลา 23.29 น. เฟซบุ๊กแฟนเพจ ‘องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์’ หรือ อมธ.’  เผยแพร่แถลงการณ์องค์การฯ เรื่อง การจับกุมตัวกลุ่มนักศึกษาขบวนการประชาธิปไตยใหม่

โดยระบุว่า สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่กลุ่มนักศึกษาแนวร่วมประชาธิปไตยใหม่ ถูกจับเนื่องจากการแสดงออกทางการเมืองในวันที่ 26 มิถุนายน พ.ศ.2558 โดยได้ถูกตั้งข้อหา 2 ข้อหาคือ

(1) ขัดคำสั่งที่ 3/2558 ข้อ 12 ที่คสช.ออกตามมาตรา 44 เรื่องห้ามมั่วสุมทางการเมือง

(2) ผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 เรื่องการยั่วยุปลุกระดมประชาชน

โดยกลุ่มนักศึกษาได้ถูกนำตัวไปยังศาลทหารกรุงเทพ และเจ้าหน้าที่ได้มีการขอคำสั่งศาลฝากขังในคืนวันเดือนกันนั้น องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในฐานะองค์กรที่มีหน้าที่ในการปกป้องสิทธิของนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์โดยตรง มีความเห็นต่อกรณีดังกล่าว ดังต่อไปนี้

1. กระบวนการปรองดองและการปฏิรูปประเทศ เป็นกระบวนการที่ต้องอาศัยความคิดเห็นและการมีส่วนรวมจากประชาชนทุกภาคส่วน ดังนั้น การที่ห้ามปรามการแสดงออกทางการเมืองของประชาชนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง จึงไม่ใช่หนทางที่จะนำประเทศไปสู่กระบวนการใดๆ ได้เฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่บรรยากาศในบ้านเมืองต้องการความคิดเห็นของทุกฝ่ายในการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นั้น การห้ามปรามการแสดงความคิดเห็นจึงเป็นส่วนสำคัญในการปฏิรูปประเทศนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สมควรยิ่ง

2. โดยหลักการแล้วศาลทหาร มีอำนาจในการพิจารณาพิพากษาเฉพาะคดีความที่เกี่ยวข้องกับความผิดของทหาร ยกตัวอย่างเช่น ความผิดทางด้านวินัย หรือการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งในการขึ้นศาลทหารนั้นจำเลยที่เป็นพลเรือนจะไม่มีสิทธิแต่งตั้งทนาย หรือฟ้องคดีเองได้ที่ศาลทหาร ต้องมอบคดีให้แก่อัยการทหารเป็นโจทก์รวมถึงในส่วนของการพิจารณาคดีความ ก็ยังอยู่ในขั้นตอนที่เป็นการตัดสินของทหารอีกด้วย ซึ่งนักศึกษาที่ถูกจับไม่ได้มีสถานะเป็นทหารประจำการ กระบวนการนี้จึงอาจก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมแก่จำเลยซึ่งเป็นพลเมืองได้ อีกทั้งบ้านเมืองก็ไม่ได้อยู่ในช่วงสงคราม จึงไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะใช้ศาลทหารในการพิจารณาคดีของนักศึกษา ซึ่งเป็นเรื่องของการแสดงออกทางการเมืองเพียงเท่านั้น

ด้วยเหตุผลดังกล่าว องค์การนักศึกษาจึงขอเรียกร้องให้ท่าน ปล่อยตัวนักศึกษาที่ถูกจับกุมในข้างต้นและยกเลิกการใช้ศาลทหารในคดีของพลเรือน ทั้งนี้เสียงสะท้อนทั้งหมดที่กล่าวไป เป็นความเห็นของนักศึกษาที่มีความหวังดีต่อประเทศไทย รวมถึงความยุติธรรมที่คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นในสังคม และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าข้อเสนอขององค์การนักศึกษานั้น จะได้รับการรับฟัง และพิจารณา พวกเราฝันเห็นสังคมที่สามารถเปลี่ยนความขัดแย้งให้เป็นพลังในการขับเคลื่อนสังคมผ่านกลไกประชาธิปไตย เพราะความสงบสุขที่แท้จริงจะเกิดขึ้นได้จากการสร้างกลไกที่ยั่งยืน มิใช่เกิดจากการเก็บกดปิดกั้นชั่วครั้งชั่วคราวดังที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้