Skip to main content

นักวิชาการ นักรณรงค์ด้านสิทธิเด็ก จิตแพทย์ และเยาวชน เห็นตรงกันว่าแนวทางการแก้ไขปัญหาการรังแกนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศในโรงเรียน ต้องเริ่มต้นที่การลบอคติเหยียดเพศที่แตกต่าง ผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนและความร่วมมือกันจากทุกฝ่าย หลังผลวิจัยชี้หนึ่งในสามของเด็ก LGBT เคยโดนรังแก

 

องค์กรภาคประชาสังคมอาทิ มูลนิธิแพธทูเฮลท์, มูลนิธิเอ็มพลัส, องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ได้ร่วมกันวางแผนการดำเนินงาน "โครงการป้องกันและลดการใช้ความรุนแรงและการรังแกกันในสถานศึกษา” ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ.2557 – เดือนตุลาคม พ.ศ.2560เพื่อพัฒนาระบบป้องกัน ดูแลนักเรียนที่ได้รับผลกระทบจากการรังแก สร้างความตระหนักกับสถานศึกษาเรื่องการรังแกกัน

องค์กรพันธมิตรมีเป้าหมายการดำเนินโครงการกับนักเรียนอย่างน้อย 3000 คน ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นและ 2,000 คนในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จาก 5 โรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯ และ  5 โรงเรียนในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากเป็นเขตพื้นที่ที่มีแนวโน้มความเสี่ยง

ภาวนา เหวียนระวี เลขาธิการ มูลนิธิแพธทูเฮลท์ กล่าวว่าการแก้ปัญหาต้องทำอย่างรอบด้านและร่วมกันทุกฝ่าย เริ่มจากต้องสร้างความเข้าใจความเท่าเทียมกันทางเพศและไม่สนับสนุนการใช้ความรุนแรงกับผู้เรียน "โรงเรียนควรมีการจัดตั้งกลไลในการป้องกันและดูแลเรื่องความรุนแรง พัฒนาศักยภาพครู อาจารย์ และบุคลากรในโรงเรียน ควรจัดตั้งระบบที่เป็นมิตรต่อการรักษาความลับ ควรมีพื้นที่ให้พบปะครอบครัวและชุมชนได้พบปะกันเพื่อให้คำปรึกษาและคำแนะนำเรื่องการรังแกมากกว่าแค่การมาจ่ายค่าเทอมที่โรงเรียนปีละครั้ง  ในระดับนโยบายพื้นที่การศึกษาต้องมีการสร้างเครือข่ายครูผู้สอนให้มีการดำเนินงานที่เป็นรูปธรรมและเกิดขึ้นจริง"

โครงการนี้เป็นผลสืบเนื่องจากผลงานวิจัย "การรังแกต่อกลุ่มนักเรียนที่เป็นหรือถูกมองว่าเป็นคนข้ามเพศหรือคนรักเพศเดียวกันในโรงเรียนระดับมัธยมศึกษา: รูปแบบ ความชุก ผลกระทบ แรงจูงใจ และมาตรการป้องกันใน 5 จังหวัดของประเทศไทย" จัดทำโดยองค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล, ยูเนสโก และมหาวิทยาลัยมหิดล พบว่าเกือบหนึ่งในสามของนักเรียนที่ระบุตนเองว่าเป็นเลสเบี้ยน เกย์ คนรักสองเพศ และคนข้ามเพศ (LGBT) รายงานว่าเคยมีประสบการณ์ถูกทำร้ายร่างกาย ร้อยละ   29.3 ระบุว่าเคยถูกกระทำทางวาจา นอกจากนี้ร้อยละ   7 ของผู้ที่ถูกรังแกระบุว่าเคยพยายามฆ่าตัวตาย

งานวิจัยยังพบว่าโรงเรียนไม่มีนโยบายหรือมาตรการเฉพาะที่จะป้องกันปัญหาการรังแกต่อกลุ่มนักเรียนที่เป็นหรือถูกมองว่าเป็นคนข้ามเพศหรือคนรักเพศเดียวกัน ส่วนใหญ่ใช้วิธีรับมือต่อปัญหาเฉพาะหน้าและการลงโทษผู้กระทำผิดเมื่อได้รับทราบเหตุการณ์ จึงเสนอแนะให้สถาบันการศึกษาไทยกำหนดนโยบายต่อต้านการรังแกและบรรจุเรื่องการรังแกเข้าไปในหลักสูตรการเรียนการสอน ต้องมีการปรับเปลี่ยนทัศนคติของนักเรียน ครู และผู้ปกครองที่มองนักเรียนที่รักเพศเดียวกันหรือมีลักษณะข้ามเพศว่าเป็นบุคคลผิดปกติทางจิต 

 

ภาพกิจกรรมวาดรุ้งด้วยชอล์ก จากเว็บไซต์ http://www.en.schoolrainbow.org/photos/

นักเคลื่อนไหวชวนเน้นจัดกิจกรรมต้านเกลียด LGBT, ครูแนะเพ่ิมหลักสูตรเพศวิถีศึกษา

เปรมปรีดา ปราโมช ณ อยุธยา เจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบโครงการโรงเรียนสีรุ้ง ประจำองค์การยูเนสโก กล่าวว่าองค์การยูเนสโกได้ร่วมมือกับโครงการเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) จัดกิจกรรมโรงเรียนสีรุ้ง สืบเนื่องมาจากการรณรงค์ระดับโลกในวันยุติความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันและคนข้ามเพศ (International Day Against Homophobia and Transphobia) ซึ่งตรงกับวันที่ 17 พฤษภาคมของทุกปี เพื่อดึงดูดความสนใจและสร้างความตระหนักในประเด็นการรังแกและความรุนแรงที่ประสบโดยนักเรียนที่เป็นLGBTในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก โดยใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือให้นักเรียนและคนทั่วไปมีส่วนร่วมแบ่งปันข้อมูลกิจกรรมดังกล่าว

การรณรงค์ประกอบไปด้วยกิจกรรมวาดรุ้งด้วยชอล์ก โดยนักเรียนและครูรวมตัวกันเตรียมงานและวาดภาพรุ้งซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความหลากหลายทางเพศบริเวณประตูโรงเรียนหรือที่อื่นๆ ตามด้วยการพูดคุยในห้องเรียน โดยอิงแบบเรียนเกี่ยวกับประเด็นความหลากหลายทางเพศ การยอมรับและสิทธิในการได้รับการศึกษา ซึ่งโรงเรียนที่จัดกิจกรรมในปีที่ผ่านมาได้แก่ โรงเรียนมัธยมประชานิเวศน์ โรงเรียนวัดนวลนรดิษฐ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และโรงเรียนนานาชาติ New International School of Thailand 

เปรมปรีดายังอธิบายว่าสื่อมักเสนอภาพเกินจริงและมีภาพการใช้ความรุนแรงหลากหลายรูปแบบต่อ LGBT ในสื่อ "เราก็พยายามทำงานกับสื่อมวลชนให้เสนอภาพเหล่านี้ให้ลดน้อยลง หรือว่าให้เห็นความหลากหลายของความเป็น LGBT โดยเฉพาะสาวประเภทสองจะเห็นชัดว่ามีอยู่แค่ภาพลักษณ์เดียว คือเป็นนางโชว์และช่างแต่งหน้า ซึ่งมีผลต่อการพัฒนาของนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศเอง ภาพที่เด็กบริโภคจากสื่อไม่ได้ทำให้เด็กมีพื้นที่ที่จะสร้างความเข้าใจใหม่ๆเกี่ยวกับคนกลุ่มนี้เลย"

กฤติกา โภคากร อาจารย์หัวหน้าภาควิชาสุขศึกษาและเพศวิถีศึกษา ประจำโรงเรียนมัธยมประชานิเวศ และนายกสมาคมครูเพศวิถีศึกษาแห่งประเทศไทย เสนอว่านอกจากการสร้างความตระหนักต่อประเด็นการรังแกกันเนื่องจากอคติต่อเพศที่หลากหลายแล้ว การนำหลักสูตรเพศวิถีศึกษาเข้าไปบูรณาการกับหลักสูตรสุขศึกษาและวิชาแนะแนวที่มีอยู่ในโรงเรียนจะเป็นแนวทางปรับเปลี่ยนทัศนคติทางลบที่มีต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ดี โรงเรียนมัธยมประชานิเวศใช้หลักสูตรเพศวิถีศึกษามาประมาณ 7 ปีแล้ว โดยให้อาจารย์ผู้สอนวิชาสุขศึกษา แนะแนว และนิสิตฝึกสอนเข้ารับการอบรมการสอนเพศวิถีศึกษาก่อนเริ่มการสอนทุกคน "เพศวิถีศึกษาควรจะมีทุกโรงเรียน หลักสูตรเพศศึกษาได้ถูกรวมในวิชาสุขศึกษาของทุกโรงเรียนอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าไม่ได้เจาะเรื่องความชัดเจนในความหลากหลายทางเพศ หลักสูตรเพศวิถีจะมีบทที่บอกให้รู้สิทธิของตัวเองและการเข้าใจผู้อื่นด้วย"

กฤติกายังพูดถึงสมาคมครูเพศวิถีศึกษาแห่งประเทศไทยว่าสมาคมมีเป้าหมายร่วมมือกับครูเพศวิถีศึกษาทั่วประเทศในการจัดการเรียนการสอนอย่างเป็นระบบ มีทั้งค่ายพัฒนาครูเพื่อผลักดันหลักสูตรเพศวิถีศึกษาเข้าไปในโรงเรียนต่างๆ ค่ายเยาวชนเพื่อสร้างแกนนำการให้ความรู้เรื่องเพศวิถีศึกษา และเริ่มมีแผนงานเพื่อสร้างแกนนำเยาวชนให้ไปพัฒนาศักยภาพของนักเรียน LGBT ในโรงเรียนด้วย

นักวิชาการชี้กฏการแต่งกายเป็นพิษต่อเด็กเพศหลากหลาย ด้านเยาวชนขอครูอย่าละเลย

น้องเนย (นามสมมติ) นักเรียนโรงเรียนสหศึกษาแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯซึ่งนิยามตนเองว่าเป็นทอม เล่าว่ามักถูกรังแกทางวาจาจากนักเรียนชายที่เชื่อว่าการเป็นทอมสามารถเปลี่ยนแปลงได้ "โดนพูดเรื่องนี้เป็นประจำ เขาชอบพูดประมาณว่าจะเอา จะทำให้เราหายเป็นทอม” น้องเนยมองว่าเครื่องแบบนักเรียนที่แบ่งแยกเพศทางกายภาพชัดเจน ทำให้นักเรียนที่เป็นกะเทยหรือทอมหลายคนอึดอัดเพราะไม่สามารถแสดงออกถึงความเป็นตัวของตัวเองได้ แต่ก็เข้าใจถึงความสำคัญของชุดนักเรียน จึงอยากให้โรงเรียนและครูมีความยึดหยุ่นต่อกฏระเบียบทรงผมของนักเรียน LGBT บ้าง

ทีโม โอจาเน็น นักวิจัยประจำศูนย์ศึกษานโยบายสาธารณสุข สวัสดิการ และสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่าผลงานวิจัยแสดงให้เห็นว่าสังคมไทยให้คุณค่ากับแต่ละเพศไม่เท่าเทียมกัน ทั้งระหว่างชายกับหญิง สำหรับ LGBT ยิ่งถูกให้ค่าน้อยลงไปอีก "แม้กระทั่งกฏระเบียบของโรงเรียน การซอยผมของทอมผิด การทาครีมกันแดดทาเแป้งของนักเรียนชายก็ผิด ทำให้เด็กบางกลุ่มกลายเป็นคนทำผิดกฏระเบียบของโรงเรียนไปโดยปริยาย ถ้าคนอื่นไปแกล้งเขาก็ง่ายดีเพราะเขาอาจจะไม่กล้าไม่ฟ้องอาจารย์"

ทีโมตั้งข้อสังเกตจากงานวิจัยว่ากฏของโรงเรียนที่แบ่งแยกข้อปฏิบัติของแต่ละเพศอย่างชัดเจนเป็นสาเหตุหนึ่งของการรังแก เพราะทำให้การแสดงออกทางตัวตนของนักเรียนกลุ่ม LGBT เป็นเรื่องผิดกฏระเบียบ "อย่างเช่นเด็กผู้ชายที่ออกสาว คนอื่นก็มองว่าเขาดูตลก ใครๆก็เข้าใจว่าเขาอยากเป็นผู้หญิง แต่ตัวตนภายนอกเขาเป็นผู้หญิงไม่ได้ เพราะกฏของโรงเรียนห้าม เลยมีการแกล้งกันเกิดขึ้น" 

"ส่วนมากคนยังไม่มองว่าปัญหานี้เป็นปัญหาคือถ้าไม่เป็นข่าว ไม่กระทำกันจนเลือกตกยางออก ก็ยังมองว่าเป็นแค่เรื่องจิ๊บจ๊อย มองว่าคนที่เป็น LGBT ไม่ถูกรังแก อาจจะเป็นเพราะส่วนมากสิ่งที่เด็กถูกกระทำ ครูมักจะมองว่าเป็นการเล่นกัน และเมื่อมีอะไรมากกว่านั้นเกิดขึ้นเด็กก็อายและไม่กล้าไม่บอกใคร หลายคนไม่บอกเพื่อนด้วยซ้ำ ยิ่งน้อยมากไปจะไปถึงครูหรือคนในโรงเรียน ในเมื่อมันดูเหมือนไม่มีปัญหา หนทางแก้ไขจึงทำได้ยาก" ทีโมกล่าว

น้องกาย (นามสมมติ) นักเรียนโรงเรียนชายล้วนในจังหวัดทางภาคเหนือเล่าประสบการณ์ที่ถูกรังแกในโรงเรียนว่า "ช่วงม.ต้น คนจะเริ่มเข้าสังคม เริ่มมีกลุ่มเพื่อน พอเราโดนเพื่อนล้อว่า ไอ้เกย์ พอโดนล้อมากๆ มันทำให้เราไม่มีความมั่นใจ เราไม่อยากอยู่ในสังคมนั้นเลย ทำให้เราเป็นคนเข้าสังคมไม่ได้ ไม่ค่อยกล้าคุยกับใคร ไม่มีความกล้าแสดงออก เพราะเรารู้สึกว่าเราทำอะไรไม่ได้ จะโดนล้อตลอด"

น้องกายเสนอว่าครูอาจารย์ไม่ควรละเลยและให้ความช่วยเหลือเมื่อนักเรียนไปบอกเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น "ที่บ้านก็คุยด้วยไม่ได้ ครูก็เลือกที่จะนิ่งเฉย เราอยากให้ครูเตือนเพื่อนบ้าง เราอยากให้ใครสักคนมาอธิบายว่าสิ่งที่เราเป็นมันเป็นเรื่องปกติ ไม่ได้ผิดปกติ"

น้องมะพร้าว (นามสมมติ) นักเรียนในโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า "ห้องน้ำเป็นปัญหามากๆ ไม่รู้จะเข้าห้องน้ำที่ไหน พอเข้าห้องน้ำผู้หญิง เพื่อนผู้หญิงบางคนก็จะไม่พอใจ แต่ถ้าเราไปเข้าห้องน้าผู้ชายคนก็จะมองเราว่าเป็นตุ๊ดทำไมมาเข้าห้องน้ำผู้ชาย" เสนอว่าควรจะมีห้องน้ำแยกให้ผู้มีความหลากหลายทางเพศมีพื้นที่ให้ทำธุระส่วนตัวอย่างสะดวก

เจษฎา แต้สมบัติ ผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิเครือข่ายเพื่อนกะเทยไทยเพื่อสิทธิมนุษยชน มองว่าการสร้างห้องน้ำเฉพาะสำหรับนักเรียน LGBT อาจมีทั้งผลดีและผลเสีย "คนอาจจะมองว่าห้องน้ำสำหรับนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ อาจจะส่งเสริมพ้ืนที่อำนวยความสะดวกสบายให้มากขึ้นเวลาใช้ห้องน้ำ แต่ถ้าเรามองย้อนกลับไปที่แบบแปลนของโรงเรียน ห้องน้ำมักถูกจัดอยู่ในสถานที่ลับตาจึงสร้างไว้ในซอกหลืบของอาคาร ในคณะทำงานก็เคยคุยกันว่า การสร้างห้องน้ำสำหรับเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ อาจจะเป็นการส่งเสริมและเปิดช่องให้มีการคุกคามมากขึ้นหรือไม่ อาจกลายเป็นสถานที่ที่ยิ่งอันตรายสำหรับนักเรียน LGBTด้วยซ้ำไป เพราะมองได้ว่าพวกเขาจะต้องถูกกีดกันให้แปลกแยกออกไป ไม่สามารถอยู่ร่วมกับผู้ที่ถูกนิยามว่าปกติได้ ดังนั้นนโยบายดังกล่าวควรมีการทบทวนกันต่อไปว่าจะมีทางเลือกใดบ้างที่จะทำให้นักเรียนสามารถใช้ห้องน้ำได้ด้วยความสะดวกใจ"

ขณะที่การออกแบบสถานที่ในโรงเรียนเพื่อป้องกันการรังแกเป็นเรื่องสำคัญ แต่สิ่งที่เจษฎาเห็นว่าจะแก้ปัญหาได้ในระยะยาวคือการปรับปรุงหลักสูตร เขาแจงว่าหลักสูตรสุขศึกษาตั้งแต่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 – มัธยมศึกษาปีที่ 6 ระบุว่ากลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นคนที่มีความผิดปกติทางจิตและมีความเบี่ยงเบนทางเพศ "นักเรียนที่มาอ่านแบบเรียนนี้ ก็จะเข้าใจว่าคนเหล่านี้เป็นคนผิดปกติ อย่าไปเข้าใกล้ อย่าไปมีความสัมพันธ์ด้วย พอเราถูกบอกและสอนแบบนี้ สิ่งที่นักเรียนหลายคนซึมซัมก็คือว่ากะเทยไม่ได้เป็นมนุษย์เหมือนกับเรา ซึ่งทำให้เขามองว่าสามารถจะกลั่นแกล้งรังแกได้ เพราะมองว่าความเป็นมนุษย์ของเรามีไม่เท่ากับคนอื่น.....มันทำให้เพื่อนในชั้นเรียนเกิดความคุ้นชินที่จะก้าวล่วงเตะต้องเนื้อตัวร่างกายได้โดยที่ไม่รู้สึกว่าผิดอะไร" พร้อมเสนอให้มีการปรับเปลี่ยนหลักสูตรการสอนให้ครอบคลุมประเด็นความเท่าเทียมกันทางเพศในแบบเรียนและปรับปรุงแบบเรียนที่ระบุว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นผู้ผิดปกติทางจิต

 

กุมารแพทย์ย้ำสอนเด็กให้ไม่รังแกกลับ ยุติวงจรความรุนแรง

กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญยังยืนยันว่านักเรียนที่ถูกรังแกจะได้รับผลกระทบทั้งทางกายและทางจิตใจ พญ.จิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์เวชศาสตร์วัยรุ่น ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ รพ.รามาธิบดี กล่าวว่า "ผลกระทบต่อเด็กที่ถูกรังแกคือจะซึมเศร้า ไม่มีความสุข หลายคนนำไปสู่การฆ่าตัวตาย รู้สึกไม่มีคุณค่าในตัวเองซึ่งเป็นจุดสำคัญของการประสบความสำเร็จของเด็ก ผู้ได้รับผลกระทบไม่ใช่ผู้ถูกกระทำอย่างเดียว แต่เป็นผู้กระทำและคนรอบข้างด้วย สิ่งที่เราต้องบอกกับเด็กก็คือการรังแกต้องหยุดด้วยการไม่รังแกกลับ เพราะการรังแกกลับเป็นการสร้างวงจรของการรังแกว่าต้องรังแกคนอื่นถึงจะอยู่รอด จะทำให้การพัฒนาบุคคลิกของเด็กเป็นคนก้าวร้าวรุนแรงและที่หนักที่สุดคือพัฒนาไปถึงขั้นเป็นอาชญากรในอนาคต"

"กลไลในการแก้ปัญหาไม่ควรมุ่งแค่เด็กที่เป็นคนรังแก แต่ต้องรวมถึงเด็กที่เป็นคนรู้เห็นหรือเป็นพยานในการแกล้งกันด้วย ปัจจุบันทางการแพทย์ยอมรับแล้วว่าการที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ใช่ความผิดปกติ เป็นความก้าวหน้าทางการแพทย์ที่บอกได้ว่านี่คือความแตกต่างหลากหลาย เหมือนคนเกิดมาถนัดขวากับซ้าย เพราะฉะนั้นคนที่มีความแตกต่างหลากหลายทางเพศไม่ใช่คนผิดปกติ ต้องมีการให้ความรู้แก้ไขความเชื่อที่ไม่ถูกต้อง ไม่ใช่แค่แค่ครูและนักเรียนต้องรวมทั้งบุคคลากรในโรงเรียนและผู้ปกครองด้วย" พญ.จิราภรณ์เสนอแนะ

พญ. จิราภรณ์ เสนอว่าวิธีการรับมือกับพฤติกรรมการรังแกกันของนักเรียนต้องไม่กระตุ้นให้มีการรังแกเพิ่มขึ้น เช่น อาจารย์ไม่ควรตีหน้าเสาธง แต่ใช้วิธีการให้ทำงานจิตอาสาแทน และควรต้องมีการจัดการปัญหาอย่างต่อเนื่อง "จัดชั่วโมงโฮมรูมให้นักเรียนสามารถพูดคุยเรื่องการรังแกโดยเฉพาะ อาจมีใบปฏิญาณตนให้นักเรียนเขียนหรือกล่าวก่อนเข้าชั้นเรียนว่าการแกล้งรังแกเป็นสิ่งที่กระทำไม่ได้ ทำให้เด็กรู้สึกตระหนักและยับยั้งพฤติกรรมดังกล่าวรวมถึงการฝึกอบรมผู้ปกครองให้เข้าใจการรับมือกับความรุนแรง สร้างบรรยากาศในโรงเรียนที่เข้าใจเรื่องความแตกต่างหลากหลายว่าคือธรรมชาติของมนุษย์และทำให้เด็กเกิดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น"

 

หมายเหตุ : ธนภรณ์ สาลีผล ผู้เขียนเป็นนักศึกษานำผลงานในรายวิชา advanced reporting เดือนธันวาคม 2557 ซึ่งส่งข้าร่วมกิจกรรม 'ปล่อยของหลังห้อง' กับเว็บเด็กหลังห้อง ซึ่งนักศึกษาท่านใดสนใจร่วมกิจกรรมอ่านรายละเอียดได้ที่นี่