Skip to main content

หนึ่งในกิจกรรมบังคับของเด็กหอในจุฬาฯที่ต้องเข้าร่วมทุกคน  และเหตุใดจึงต้องซ้อมหนีไฟกันทุกปี 

คืนวันที่ 20 และ 21 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมามีการซ้อมหนีไฟประจำปีของหอพักนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อสัญญาณกริ่งเตือนภัยได้ดังขึ้น และไฟดับทั่วหอพัก หัวปีกแต่ละชั้นจะถือธงและไฟฉายลำเลียงสมาชิกแต่ละชั้นลงบันไดหนีไฟอย่างพร้อมเพรียง กิจกรรมนี้สำเร็จลุล่วงมาได้ทุกปี นิสิตหอในจุฬาฯแต่ละคนเพลิดเพลินไปกับการร่วมกิจกรรม  แต่จะมีสักกี่คนที่รู้ว่ามีอะไรมากกว่าการซ้อมหนีไฟ เพราะนอกจากเป็นการเตรียมการก่อนเกิดเหตุขึ้นจริงแล้ว งบประมาณในการซ้อมหนีแต่ละครั้งสูงมาก เพราะต้องจำลองเหตุการณ์จริง หน่วยงานด้านอัคคีภัยทุกหน่วยต้องมา เช่น หน่วยดับเพลิงของจุฬาฯ หน่วยดับเพลิงของเขต รวมถึงสายฉีดน้ำ อุปกรณ์ต่างๆต้องครบเหมือนอยู่ในเหตุการณ์จริง และต้องเตรียมวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านอัคคีภัยเพื่อมาอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรในหอพักอีกด้วย

อาจารย์รับขวัญ ภูษา อาจารย์ประจำหอพักนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้กล่าวว่า คนไทยไม่ค่อยจริงจังเรื่องการซ้อมหนีไฟ ทั้งที่มีพระราชบัญญัติความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน พ.ศ. 2554 ที่ต้องมีการอบรมการดับเพลิงขั้นต้นและเป็นหน่วยงานฝึกซ้อมดับเพลิงและฝึกซ้อมอพยพหนีไฟ ยิ่งตึกสูงหลายชั้นจำเป็นต้องมีการซ้อมเพื่อรู้กระบวนการขั้นตอนเผื่อเกิดอัคคีภัยจริงๆ โดยหอพักนิสิตจุฬาฯมีระบบป้องกันอัคคีภัยที่มีมาตรฐาน มีไฟฉุกเฉิน มีการสร้างและซ่อมแซมบันไดหนีไฟไม่ให้ชำรุดอยู่เสมอ โดยเฉพาะตึกชวนชม หรือตึกใหม่ 17 ชั้น ค่อนข้างมีระบบที่ครบวงจรทั้งลิฟท์ที่สามารถใช้งานได้เมื่อเกิดเพลิงไหม้ และมีสัญญาณเตือนภัยแบบแซนวิซ คือเสียงกริ่งจะดังขึ้นไปชั้นบนและชั้นล่างของชั้นที่เกิดอัคคีภัย ทำให้สามารถเข้าไปดับเพลิงได้ถูกจุดและรวดเร็ว