Skip to main content

สอศ. สั่งสถาบันอาชีวะกลุ่มเสี่ยง 21 แห่งคัดกรองเด็กเข้าเรียนปีการศึกษา 58 มีประวัติทะเลาะวิวาท-เจาะหู-มีรอยสัก ห้ามรับเข้าเรียน

23 ก.ย.2557 นายชัยพฤกษ์ เสรีรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (เลขาธิการ กอศ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ได้จัดตั้งกลุ่มอาชีวศึกษาพัฒนาโดยรวมวิทยาลัยในกลุ่มเสี่ยง 21 แห่ง ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีปัญหาเด็กก่อเหตุทะเลาะวิวาท โดยจะให้วิทยาลัยกลุ่มนี้เข้มงวดในการรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2558 ซึ่งจะเน้นคัดกรองรับเฉพาะเด็กที่ตั้งใจมาเรียนสายอาชีพจริง มีความประพฤติดี ไม่มีประวัติก่อเหตุทะเลาะวิวาท ไม่เจาะหู ไม่มีรอยสักตามร่างกาย และเมื่อเข้าเรียนแล้วก็จะดูแลเรื่องระเบียบวินัยการแต่งกายอย่างเคร่งครัด

สอศ. ยังพิจารณาข้อมูลด้วยว่า มีเด็กในสาขาวิชาใดของ 21 วิทยาลัยกลุ่มเสี่ยงก่อเหตุทะเลาะวิวาทมาก และบ่อยครั้งก็จะให้แผนกหรือสาขาวิชานั้น งดรับนักศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ในปีการศึกษา 2558 ทั้งนี้ จากการหารือระหว่างผู้เกี่ยวข้องและผู้อำนวยการวิทยาลัยเบื้องต้นคิดไว้ในใจว่าจะมี 1 - 2 สาขาที่จะไม่ให้บางวิทยาลัยรับสมัครนักศึกษา และให้โอนย้ายครูพร้อมทั้งอุปกรณ์การเรียนการสอนในสาขาวิชานั้นๆ ไปให้วิทยาลัยแห่งอื่นที่เปิดสอน ส่วนระดับ ปวช. 2 - 3 ที่เปิดสอนอยู่กำลังพิจารณาว่าจะโอนย้ายไปเรียนรวมในวิทยาลัยที่มีการโอนย้ายครูไปด้วยหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยและเชื่อว่าจะบรรเทาปัญหาการทะเลาะวิวาทลงได้

นายชัยพฤกษ์ กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ สอศ. เตรียมจัดทำโครงการ “Pre อาชีวศึกษา” เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้เด็กเรียนต่อสายอาชีพ และจะเป็นส่วนหนึ่งของการปัญหานักเรียน นักศึกษาก่อเหตุทะเลาะวิวาท ทั้งนี้ จากการประชุมร่วมระหว่าง รมว.ศึกษาธิการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดมาตรการแก้ปัญหาดังกล่าว เห็นว่าสาเหตุที่เด็กก่อเหตุเพราะปรับตัวไม่ได้ เพราะนักเรียนชั้น ม.3 และ ม.6 ที่มีการเรียนการสอนต่อเนื่องเต็มวัน แต่เมื่อเข้าสู่การเรียนในระดับ ปวช. และปริญญาตรี จะเรียนด้วยการค้นคว้าด้วยตนเองและมีเวลาว่างในการรอเวลาเรียนวิชาต่อไปเยอะ เด็กบางคนใช้เวลาว่างไม่เหมาะสม ไปจับกลุ่มในที่อโคจร มั่วสุม ก่อเหตุทะเลาะวิวาท เพราะฉะนั้น สอศ. จึงเตรียมจัดโครงการ Pre อาชีวศึกษา นำนักเรียนระดับ ปวช.1 และประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.1) ทุกคนมาอบรมเตรียมความพร้อมในหลักสูตรแบบบูรณาการ โดยจะมีการปรับพื้นฐานความรู้ ระเบียบวินัย ทัศนคติและการจัดสรรเวลาเรียนให้กับนักเรียน โดยจะใช้เวลาในการอบรม 2 - 3 เดือน ทั้งนี้ จะนำเสนอ พล.ร.อ.ณรงค์ เพื่อพิจารณาในสัปดาห์หน้า

“การนำเด็กทุกคนมาปรับพื้นฐานก่อน จะทำให้เด็กสามารถปรับตัวในการเรียนได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ กำลังอยู่ในการศึกษารายละเอียดว่าการให้เด็กมาเรียนในโครงการดังกล่าว จะให้แต่ละวิทยาลัยดำเนินการอบรมนักศึกษาที่เข้าใหม่ในระดับ ปวช.1 และ ปวส.1 ของตนเอง หรือนำเด็กต่างสถาบันแต่เรียนสาขาเดียวกันมาอบรมร่วมกัน เพื่อจะได้รู้จักกันและเมื่อแยกไปเรียนในสถาบันของตนเองแล้วจะได้ไม่ก่อเหตุทะเลาะวิวาทกัน ทั้งหมดนี้เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหาความรุนแรงและเหตุทะเลาะวิวาทของนักศึกษาอาชีวศึกษา ซึ่งเป็น 1 ใน 10 นโยบายเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการให้เห็นผลใน 3 เดือน ” นายชัยพฤกษ์ กล่าว

 

เรียบเรียงจาก ASTVผู้จัดการออนไลน์ คมชัดลึกออนไลน์